โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ( BangKhunThian Geriatric Hospital )

1.ประวัติความเป็นมา

 

          ท้องฟ้าสีครามตัดกับพื้นน้ำสีเขียว ท้องทุ่งน้ำเป็นทุ่งนาที่ใช้สำหรับเลี้ยงกุ้งโดยอาศัยน้ำกร่อย มีแนวหญ้าต้นไม้ที่เป็นต้นโกงกางขึ้นตามแนวกั้นน้ำ อาคารที่ใหญ่ทมึนท่วมกลางพื้นน้ำสีเขียว เงาของอาคาร ทอดยาวลงพื้นน้ำที่อยู่ข้างกัน ป้ายที่ยื่นออกไปบนถนนบางขุนเทียน – ชายทะเลเสมือนประกาศตัวตนให้ประชาชนที่เดินทางไปมาได้ทราบว่าเป็นอาคารของโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เป็นโรงพยาบาลให้การดูแลประชาชนในพื้นที่ของเขตบางขุนเทียน พื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่ตามหมู่บ้านที่ต้องอาศัยเรือหางยาวเข้าออกตามหมู่บ้านในสมัยก่อน สมัยนี้อาจจะพัฒนามีถนนหนทาง แต่บางหมู่บ้านยังต้องอาศัยเรือหางยาวเข้าออกอยู่ ภาพในช่วงเช้าจะมี พระสงฆ์ เด็กนักเรียน คนหาเช้ากินค่ำ คนใช้แรงงานต้องอาศัยเรือหางยาวเพื่อออกมารอรถประจำทางเพื่อไปต่อรถที่ห้างแถวพระราม 2 เป็นภาพชินตาในตอนเช้า

image hospital
image

          หมอกที่ลอยอ้อยอิ่ง ตามถนนชายทะเล-บางขุนเทียนในช่วงเช้ามืด เนื่องจากพื้นที่น้ำจะมากกว่าพื้นที่เป็นดิน ความชื้นอาจจะทำให้เป็นหมอกลอยจากน้ำ สะท้อนให้เห็นพื้นที่ที่เป็นน้ำมากกว่าพื้นที่ที่เป็นดิน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนากุ้งในสมัยก่อน แต่ในปัจจุบันเนื่องจากความเจริญรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ มีชาวบ้านบางส่วนที่ยังประกอบอาชีพตามบรรพบุรุษเนื่องจากไม่ทราบว่าจะประกอบอาชีพอะไร บ้างก็ขายที่เพื่อประกอบอาชีพอื่น เนื่องจากอยากให้ ลูกๆหลานๆ สบาย ในส่วนที่เป็นพื้นที่ติดชายทะเลก็ประกอบอาชีพประมง ออกเรือหาปลา ตกหมึก แต่นับวันยิ่งลดน้อยถอยลง เด็กๆรุ่นใหม่ก็พลันตัวเองไปทำงานอาชีพอื่นในเขตเมือง บ้างก็ไปทำงานในจังหวัดใกล้เคียง ทิ้งไว้แต่ผู้สูงอายุที่ต้องเฝ้าบ้านยามที่ลูกๆหลานๆไปทำงาน เฝ้ารอเวลาที่ลูกๆ หลานๆจะกลับมา

image
image
image

          ปัญหาด้านผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย นับวันเหมือนดอกไม้ที่โรยรา คนหนุ่มสาวเมื่อถึงเวลาผ่านไปก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคต โรคหรือความเจ็บป่วยก็พบในได้ในทุกกลุ่มวัย เหมือนประกาศว่าเป็นสัจจะธรรมของชีวิต ที่ทุกคนต้องพบ สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องมีการวางแผนในการเตรียมตัวที่จะป้องกัน รักษา กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานที่ดูแลประชาชนได้เล็งเห็นความสำคัญนี้

          จึงมีแผนในการขยายบริการให้บริการโดยจัดตั้งโรงพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาลในเขตชานเมือง ในการให้การดูแลประชาชนที่ห่างจากความเจริญในพื้นที่เมือง ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ต่างๆได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง ผู้สูงอายุสามารถได้รับการให้บริการแบบรวดเร็ว ลูกๆหลานๆ ไม่ต้องเสียเวลาในการพาผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเข้ามารับบริการในเขตเมือง

image
image
image

          ประวัติความเป็นมาเริ่มจากแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี ตามยุทธศาสตร์ “มหานครปลอดภัย” กำหนดให้สร้างโรงพยาบาลเพื่อรองรับความเจ็บป่วย

ของประชาชนทั่วไป รวมทั้งตอบสนองความเจ็บป่วยที่เกิดจากความเสื่อมหรือโรคผู้สูงอายุ จึงได้หาที่ในการสร้างโรงพยาบาล 

          จากความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ของ  คุณอุไรศรี คะนึงสุขเกษม และ คุณพรทิพย์ วงศ์ศิริเดช เป็นผู้มีจิตศรัทธามอบที่ดิน 34 ไร่ 1งาน 80 ตารางวา ให้แก่กรุงเทพมหานคร ในปี 2552 จึงได้ก่อกำเนิดโรงพยาบาลที่อยู่บนพื้นที่น้ำในพื้นที่เขตบางขุนเทียน โดยมีเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง คือ พื้นที่ บางบอน ทุ่งครุ จอมทอง ราษฎร์บูรณะ และจังหวัดใกล้เคียงได้แก่ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ และ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ประเมินจำนวนประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ได้ประมาณ 900,000 คน

image

คุณอุไรศรี คะนึงสุขเกษม และ คุณพรทิพย์ วงศ์ศิริเดช ผู้มีจิตศรัทธามอบที่ดิน 34 ไร่ 1งาน 80 ตารางวา ให้แก่ กรุงเทพมหานคร ในปี 2552

maphosp

พื้นที่ของโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน อยู่ในพื้นที่เขตบางขุนเทียน ติดกับพื้นที่ บางบอน ทุ่งครุ จอมทอง ราษฎร์บูรณะ และจังหวัดใกล้เคียง 

ได้แก่ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ และ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

          การสร้างโรงพยาบาลนอกจากจะต้องมีที่ดินแล้ว จำเป็นต้องมีเงินในการสร้างตึก อาคารผู้ป่วย และเครื่องมือแพทย์ สมัยนั้นการสร้างตึกต้องมีงบประมาณจำนวนมาก การหาเงินอาจจะต้องมีการระดมเงินจากประชาชนที่มีจิตศรัทธา ทำให้เกิดการเดินเทิดพระเกียรติ 84 พรรษา 84 กิโลเมตร เพื่อสร้างโรงพยาบาลเพื่อก่อสร้างเป็นโรงพยาบาล ขนาด 300 เตียง ให้บริการทางการแพทย์ทั่วไป และเวชศาสตร์ผู้สูงอายุแบบครบวงจรโดยท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีการเดินและให้ประชาชนร่วมบริจาคในจุดต่างๆ ทำให้ได้เงินมาในการสร้างอาคารโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน

image
image
          แต่ได้เงินมาแล้วก็ต้องมีปัญหาคือการสร้างตึกที่อยูบนน้ำ เนื่องจากพื้นที่ในเขตบางขุนเทียนเป็นพื้นที่น้ำ พื้นที่ดินจำนวนน้อย การที่จะสร้างอาคารจะต้องมีการถมที่ ซึ่ง ใช้งบประมาณสูง จำเป็นต้องมีการออกแบบอาคารที่อยู่กับน้ำ และต้องไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งต้องสามารถทำให้เป็นศูนย์ในการดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยได้ในอนาคต  งานออกแบบสถาปัตยกรรมออกแบบอาคาร วางแผน ต้องมีความเชี่ยวชาญ โชคดีที่ได้ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม            ท่านได้ร่างเเบบเอาไว้ และได้คุณเหวิ่น – ปฤษฐ ชุมสาย ณ อยุธยา แห่ง Dymaxion Studio Co., Ltd. มารับหน้าที่ดูแลเเละรับช่วงต่อจากงานออกแบบของคุณพ่อ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา โดยมี Architects 110 เป็นทีมออกแบบภายในผู้เชี่ยวชาญงานออกแบบโรงพยาบาล โดยออกแบบเป็นอาคารที่ตั้งอยู่พื้นที่ดินส่วนหนึ่ง  พื้นที่น้ำส่วนใหญ่ และมีอาคารพักฟื้นผู้สูงอายุอยู่บนน้ำ ทำให้บรรรยากาศโรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลที่เหมาะในการดูแลรักษา ผู้ป่วยทั่วไป รวมทั้งผู้สูงอายุ และมีสถานที่ในการพักฟื้นร่างกายเพื่อกลับไปชีวิตที่บ้านได้อย่างรวดเร็ว
image

ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา

คุณปฤษฐ ชุมสาย ณ อยุธยา

2.โครงสร้างผู้บริหารส่วนราชการ/หัวหน้าฝ่าย/หัวหน้ากลุ่มงาน
Sitemap Whiteboard in Green Purple Basic Style (2)
3.การดำเนินการทั่วไป และโดดเด่น ณ ปัจจุบัน

          โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ให้บริการทางการแพทย์เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพตอนใต้ มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยทั่วไป และงานเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค รวมถึงการบำบัดรักษา ให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ส่งเสริม สนับสนุน ค้นคว้า และวิจัยทางการแพทย์ กรุงเทพมหานครได้กำหนดให้โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนเป็นโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้สูงอายุ 

          โดยเน้นเรื่องการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้สูงอายุ การฟื้นฟูและส่งเสริมสมรรถภาพในผู้สูงอายุ มีศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุให้บริการผู้สูงอายุได้แบบครบวงจร โดยใช้หลักการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพร่างกายที่ดี มีความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน และมีความสุขกับครอบครัว ชุมชน และสังคม และเป็นสถาบันฝึกอบรมทางด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ และการพัฒนาผู้ดูแลผู้สูงอายุให้สามารถดูแล และให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านการให้บริการ โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เปิดให้บริการครั้งแรกที่อาคารชั่วคราวของโรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ให้บริการตรวจผู้ป่วยนอก (OPD) และอุบัติเหตุฉุกเฉิน ระหว่างปี 2556 – ปี 2563 ได้มีการสร้างอาคารโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ประกอบด้วยอาคารผู้ป่วยนอก อาคารผู้ป่วยใน อาคารศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ หอผู้ป่วยระยะกลางที่อยู่เรือนกลางน้ำ ส่วนต่างๆที่ให้บริการผู้ป่วย การก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จในปี 2563 โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนเริ่มเปิดให้บริการอาคารใหม่โดยเปิดให้บริการห้องตรวจผู้ป่วยนอก หอผู้ป่วยใน วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 และให้บริการห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่มีการระบาดหนักทำให้โรงพยาบาลต้องปิดการให้บริการในส่วนต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ทำให้ต้องมีการเปิดบริการห้องตรวจผู้ป่วยนอกอีกครั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 และเปิดศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน หอผู้ป่วยใน ห้องผ่าตัดในวันที่ 1 มิถุนายน 2565

image
image
image

          ในปี 2563 เกิดการระบาดของเชื้อโควิดเข้ามาในประเทศไทย ทำให้รัฐบาล นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้หาสถานที่ในการรับผู้ป่วยโควิด เนื่องจากมีการแพร่ระบาดขนาดหนัก ประชาชนมีการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ในวันที่ 16 มีนาคม 2566 จึงประกาศให้โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนเป็นโรงพยาบาลสนาม และมีการจัดเตรียมสถานที่ในการพร้อมรับผู้ป่วยจำนวน 1,000 เตียง ในขณะนั้นเป็นโรคระบาดใหม่ที่ไม่ทราบว่าจะมีความรุนแรงเท่าไหร่  บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนต่างก็มีความหวาดกลัวกับโรคโควิดเป็นจำนวนมาก จำนวนบุคลากรของโรงพยาบาลเดิมของโรงพยาบาล มีจำนวน 26 อัตรา จึงมีปรับอัตตรากำลังเป็น 155 อัตรา และรับย้ายบุคลากรมาเพิ่มเพื่อรับมือกับปัญหาโควิดจากโรงพยาบาลสำนักการแพทย์

image

           ปี 2563 ถึง ปี 2565 โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนได้รับความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ในการช่วยเหลือโดยได้ส่งบุคลากรมาเปิดหอผู้ป่วยเพื่อรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้น ส่งสิ่งของที่จำเป็นด้านการแพทย์ มีการแลกเปลี่ยนพัฒนาความรู้ในการดูแลผู้ป่วยโควิด การเกิดวิกฤตทำให้เกิดร่วมแรงร่วมใจของประชาชนคนไทยในการช่วยเหลือแบ่งปันสิ่งของที่จำเป็น เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค อุปกรณ์ทางการแพทย์ ทุกอย่างๆ โดยไม่ได้มีการร้องขอ ทำให้โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนสามารถฟันผ่าวิกฤตได้เป็นอย่างดี

img
img
img
img

           ปี 2565 โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนได้เปิดให้บริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยในจำนวน 31 เตียง เปิดให้บริการห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง เปิดให้บริการห้องผ่าตัด ผ่าตัดโรคทางศัลยกรรมและโรคทางศัลยกรรมกระดูก ให้บริการส่องกล้องเพื่อตรวจคัดกรองโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนขอรับการประเมินการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ ได้รับการตรวจประเมินและผ่านการประเมินโดยคณะกรรมการ จากกรมการแพทย์ ในวันที่ 14 กันยายน 2565 และเปิดคลินิกเฉพาะทางต่าง ๆ ได้แก่ คลินิกผู้สูงอายุคุณภาพ คลินิกแพทย์ทางเลือก คลินิกจักษุ และคลินิกทันตกรรม เพื่อรักษาโรคเฉพาะทางโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ         มีเครือข่ายระบบส่งต่อภายในระหว่างโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์รองรับ โดยโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนสามารถส่งต่อผู้ป่วยในไปยังโรงพยาบาลซึ่งมีศักยภาพสูงกว่าได้แก่ โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลกลาง ตามลำดับ

           ปี 2566 เปิดหอผู้ป่วยในจำนวน 3 หอผู้ป่วย คือหอผู้ป่วยชายจำนวน 34 เตียง หอผู้ป่วยหญิงจำนวน 34 เตียง หอผู้ป่วย intermediate care จำนวน 32 เตียง รวมเป็นจำนวน 100 เตียง มีการขอรับการประเมินการรับรองคุณภาพขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ได้ประกาศให้โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนผ่านการประเมินในวันที่ 25 กันยายน 2566 และมีการประเมินคลินิกผู้สูงอายุคุณภาพได้รับการประเมินคลินิกผู้สูงอายุคุณภาพระดับทอง

โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนได้เปิดให้บริการ ดังนี้

        คลินิกตรวจโรคทั่วไป

        ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป เพื่อคัดกรองโรคที่ต้องพบแพทย์เฉพาะทาง เปิดให้บริการ จันทร์- ศุกร์ เวลา 8.00- 15.00 น.

         คลินิกอายุรกรรม

         ให้บริการตรวจรักษาโรคอายุรกรรม เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคที่ต้องให้การรักษาด้วยยา ตรวจบริการโดยอายุรแพทย์ โดยเปิดบริการทุกวันราชการ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 8.00-12.00 น.

        คลินิกศัลยกรรม

        ให้บริการตรวจรักษาโรคศัลยกรรม โรคที่จำเป็นต้องผ่าตัด และการให้บริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับในโรคไส้เลื่อน ตรวจคัดกรองมะเร็งระบบทางเดินทางอาหาร โดยเปิดบริการทุกวันราชการ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 8.00-12.00 น.

        คลินิกศัลยกรรมกระดูก

          ให้บริการตรวจรักษาโรคศัลยกรรมกระดูก  โดยเปิดบริการทุกวันราชการ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 8.00-12.00 น.

       คลินิกสูตินรีเวชกรรม

         ให้บริการตรวจรักษาโรคทางนรีเวช เปิดให้บริการในวันอังคาร พุธ เวลา 8.00- 16.00 น. ปัจจุบันกำลังขยายการให้บริการรับฝากครรภ์

       คลินิกผู้สูงอายุคุณภาพ (ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ)

         ให้บริการคัดกรองโรคผู้สูงอายุ การป้องกัน การรักษา การฟื้นฟู ให้การรักษาโรคผู้สูงอายุแบบจุดเดียว คือ ผู้สูงอายุสามารถได้รับบริการ ตรวจพบแพทย์ ทำกายภาพบำบัด แพทย์ทางเลือก รับยาในจุดเดียว เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ เปิดให้บริการทุกวันราชการ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00- 12.00 น.

      คลินิกทันตกรรม

        ให้บริการตรวจรักษาโรคฟัน การถอน การขูดหินปูน การรักษาโรคเหงือกอักเสบ การทำฟันปลอมในผู้สูงอายุ มีห้องทำฟันที่ได้มาตรฐานป้องกันการแพร่เชื้อ เนื่องจากมีระบบดูดอากาศเพื่อป้องกันบุคลากรและผู้ป่วยอื่นไม่ให้ติดเชื้อจากละอองฝอยทีเกิดขึ้นในขณะทำฟัน เปิดให้บริการทุกวันราชการ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00- 12.00 น.

คลินิกกายภาพบำบัด

        ให้บริการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยเพื่อสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ให้บริการรักษาอาการเจ็บปวดจากการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ ข้อต่อ แนะนำการออกกำลังกายเพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อลดความเจ็บปวด การรักษาภาวะเสื่อมเช่นกระดูกคอเสื่อม กระดูกสันหลังเสื่อม โดยการยืดข้อ เปิดให้บริการทุกวันราชการ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00-15.00 น.

คลินิกแพทย์ทางเลือก

       ให้บริการแพทย์แพทย์ไทย และแพทย์แผนจีน ผู้ป่วยที่มีความเจ็บป่วยจากโรคแผนปัจจุบันและต้องใช้การรักษาแพทย์ทางเลือกร่วมด้วย เปิดให้บริการทุกวันราชการ เวลา 08.00-16.00 น.

ห้องตรวจปฏิบัติการ

      ให้บริการเจาะเลือด รับสิ่งส่งตรวจ เพื่อตรวจเลือด ตรวจเสมหะ ตรวจปัสสาวะ เพื่อหาเชื้อโรค หาโรค เปิดให้บริการทุกวัน 24 ชั่วโมง

ห้องตรวจรังสี

     ให้บริการตรวจเอกซเรย์ ตรวจอัลตราซาวน์ ตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก ให้บริการทุกวัน 24 ชั่วโมง

หอผู้ป่วยชาย 2-2

      รับผู้ป่วยชาย เพื่อให้การรักษาแบบผู้ป่วยใน จำนวน 34 เตียง

หอผู้ป่วยหญิง 3-2

      รับผู้ป่วยหญิง เพื่อให้การรักษาแบบผู้ป่วยใน จำนวน 34 เตียง

หอผู้ป่วยพักฟื้นระยะกลาง (Intermediate care ward for elderly)

      รับผู้ป่วยที่พ้นระยะวิกฤต ต้องได้รับการฟื้นฟูสภาพ ผู้ป่วยจะได้รับการฟื้นฟูสภาพโดยทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัดแพทย์ทางเลือก เริ่มเปิดให้บริการ 1 พฤศจิการยน 2566 โดยมีเกณฑ์ในการรับผู้ป่วยเข้าพักฟื้นฟูสมรรถภาพดังนี้

          ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง (stroke) ที่มีอาการและสัญญาณชีพคงที่ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน

       ผู้ป่วยที่ได้บาดเจ็บที่มีศีรษะและสมอง (Traumatic brain injury)

       ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บไขสันหลัง (Spinal cord injury)

       ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก (Fracture hip)

       ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ภายหลังการเจ็บป่วยในระยะเฉียบพลัน

      การฟื้นฟูสมรรถภาพจะต้องมีญาติหรือผู้ดูแล ช่วยในการฟื้นฟู เพื่อสามารถให้การฟื้นฟูต่อเนื่องหลังกลับไปที่บ้านได้

 

UMSC (Urban Medicine Service Center)

           เป็นหน่วยเพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อสอบถามภาวะเจ็บป่วย การให้บริการต่างๆ ได้ผ่านระบบไลน์ ในกรณีภาวะเจ็บป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการประเมินในเบื้องต้น สามารถประเมินโดยการสอบถามอาการผ่านระบบไลน์ กรณีฉุกเฉินต้องการความช่วยเหลือ หน่วย UMSC จะประสานกับห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินในการส่งรถมอเตอร์ไซด์ Motorlance หรือ รถกู้ชีพ Ambulance ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และให้บริการโทรเวชกรรมผ่านระบบเทคโนโลยีแอฟหมอ กทม. ในการที่แพทย์ พยาบาลสามารถสอบถาม ติดตามอาการ สั่งจ่ายยาเพื่อนำยาไปให้ผู้ป่วยที่บ้าน

 

4. ภาพกิจกรรมในรอบปี

ปี 2563 กิจกรรมตรวจ GECC

ปี 2563 – ปี 2565 เปิดให้บริการโรงพยาบาลสนาม ดูแลผู้ป่วยโควิดจำนวน 1000 เตียง      

เปิดให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดแบบ HI (Home isolation) และ CI (Community isolation)

ปี 2565 กิจกรรมประเมิน BKKGC plus

ปี 2565 กิจกรรมการตรวจประเมินผ่าตัดวันเดียวกลับ

ปี 2566 กิจกรรมการตรวจประเมินการรับรองคุณภาพ ขั้นที่ 2 สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)

ปี 2566 กิจกรรมตรวจประเมินคลินิกผู้สูงอายุคุณภาพ ระดับทอง

5. รางวัล/ความสำเร็จ

BKKGC

BKKGC plus

ผ่านการประเมินผ่าตัดวันเดียวกลับ

ผ่านการประเมินการรับรองคุณภาพขั้นที่ 2 สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล

ผ่านการประเมินคลินิกคุณภาพระดับทอง

Scroll to Top